ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน

YALA

 ประกาศหาคู่ผ่านอินเตอร์เน็ต GhostJoke Discovery Thailand
Discovery Thailand 3

SaKai

ลักษณะบ้านเรือน
ที่อยู่อาศัยของพวกซาไก เรียกกันโดยทั่วไปว่า "ทับ" จะทำเป็นกระโจม หรือเพิงหมาแหงนแบบง่าย ๆ ถ้าเป็นรูปกระโจมก็เอาใบไม้มาสุม ๆ เข้าให้เป็นรูปกระโจม ถ้าเป็นรูปเพิงหมาแหงนก็ทำแบบง่าย ๆ คือใช้ไม้อะไรก็ได้ โดยมากจะใช้ไม้ไผ่เพราะหาได้ง่าย นำมายกเป็นเสา 4 เสาเป็นโครงหลังคา ด้านหน้าสูงพอเลยศรีษะ ด้านหลังสูงจากพื้นดินประมาณ 1 ศอก หรือไม่ต้องมีก็ได้ กว้างประมาณ 3 ศอก หลังคามุงด้วยใบไม้อะไรก็ได้ที่ใบใหญ่ ๆ โดยมากจะใช้ใบกล้วยป่าหรือใบปุด เอาใบไม้เหล่านี้สุม ๆ ลงไปอย่างหยาบ ๆ จึงคุ้มแดดคุ้มฝนไม่ค่อยได้เวลาฝนตกจะเปียกหมด ตัวเพิงหมาแหงนจะกั้นฝาด้านเดียวและกั้นเพียงหยาบ ๆ เช่นเดียวกับการมุงหลังคา หรือไม่กั้นก็มี ส่วนอีกด้านหนึ่งจะไม่กั้น แต่จะก่อไฟไว้ตลอดเวลาดับไม่ได้ เพื่อให้ความอบอุ่น และให้แสงสว่างเวลากลางคืน และถ้าดับลงกว่าจะก่อได้ใหม่ก็ลำบากอีก ภายในกระโจมหรือเพิงหมาแหงนจะยกแคร่ไม้ไผ่สูงจากพื้นดินประมาณ 1 ศอก ตัวแคร่กว้างประมาณ 1 ศอกครึ่ง กะว่าพอนอนได้คนเดียว ถ้าเป็นบ้านของคนมีครอบครัวแล้วจะมีแคร่ 2 แคร่ มีกองไฟอยู่ระหว่างกลางแคร่ทั้งสอง ผัวเมียจะนอนคนละแคร่ ไม่นอนด้วยกัน ถ้าไม่ยกเป็นแคร่ก็เพียงแต่เอาไม้ไผ่หรือต้นปุดมาเรียงลงบนพื้นดิน การนอนจะนอนเอาศรีษะออกนอกเอาเท้าเข้าใน เขาให้เหตุผลว่าเท้าสำคัญกว่าศรีษะไปไหนมา ไหนได้ด้วยเท้า หาอาหารได้ด้วยเท้า และหนีภัยได้ด้วยเท้า ถ้าเท้าเป็นอันตรายจะเป็นเรื่องลำบากมาก การนอนเอาศรีษะออกนอกนี้ถ้าเสือมากัดก็จะได้กัดศรีษะให้ตายเสียเลย ไม่ต้องเป็นคนพิการลำบากอยู่ต่อไป จากสภาพบ้านที่ไม่แข็งแรงและไม่มิดชิดเช่นนี้ ผัวเมียจึงมีประเพณีปฏิบัติอย่างหนึ่ง คือนอนคนละแคร่ และไม่ร่วมประเวณีกันในทับเด็ดขาด พวกเขาจะชวนไปร่วมประเวณีกันในป่า ใช้ธรรมชาติป่าเขาเป็นที่กำบังโดยใช้สำนวนว่าไป "ขุดมัน" บริเวณที่ผัวเมียร่วมประเวณีกัน เขาจะทำเครื่องหมาย "ปักกำ" ไว้ที่ปากทางเข้า เป็นที่หมายรู้กันว่าทางนี้ห้ามผ่าน หลังขุดมันหรือร่วมประเวณีกันเสร็จแล้ว เขาจะลงเล่นน้ำด้วยกันในลำธารอย่างสนุกสนาน แล้วหาดอกไม้ สีแดงทัดหูเดินกลับบ้าน สภาพเงาะซาไก ถ่ายเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๘
ลักษณะการแต่งกายและเครื่องประดับ
สมัยก่อน พวกซาไกจะใช้ใบไม้ เปลือกไม้ หรือตะไคร่น้ำที่เกาะเป็นแผ่นตามก้อนหินใหญ่ ๆ ในป่า (ตะไคร่น้ำชนิดนี้มีเส้นใยสีดำ เอามาผึ่งตากแห้ง) เอามาถักทอเป็นเครื่องนุ่งห่ม การแต่งกายของผู้หญิงนุ่งยาวประมาณหัวเข่าหรือครึ่งน่อง ใช้ผ้าคาดอกหรือเปลือยอกผู้ชายนุ่งสั้นแค่เข่าและเปลือยท่อนบน ส่วนเด็ก ๆ จะไม่นุ่งอะไรเลย ต่อมาเมื่อรู้จักใช้ผ้าก็ไม่รู้จักเอามานุ่งให้เป็นถุงเป็นผืนอย่างชาวบ้าน แต่จะเอามาฉีกออกเป็นชิ้น ๆ ขนาดฝ่ามือ ผู้ชายนุ่งผ้าคาบหว่างขาแล้วกระหวัดขึ้นมาพันไว้ที่บั้นเอว ผู้หญิงนุ่งแบบเดียวกัน แต่มีผ้าหรือใบไม้นุ่งทับรอบเอวยาวแค่เข่าหรือครึ่งน่องอีกชิ้นหนึ่งแล้วมีผ้าคาดอก หรือเปลือยอกเช่นผู้ชายลักษณะการแต่งกายนี้พ้องกับที่พระบาทสมเด็จฯพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ทรงพบพวกซาไกที่จังหวัดพัทลุงและตรัง เมื่อ ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) แล้วทรงพรรณาถึงการแต่งกายของพวกเงาะหรือซาไกไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่องเงาะป่าว่า "…ผู้ชายนุ่งผ้าคาบหว่างขา แล้วกระหวัดเอาไว้ทั้งหน้าหลังเรียกว่า "นุ่งเลาะเตี๊ยะ" ชายที่ห้อยข้างหน้าเรียก "ไกพ๊อก" ชายที่ห้อยข้างหลังเรียก "กอเลาะ" วิธีนุ่งผ้าเช่นนี้เหมือนอย่างเขมรครั้งพระนครวัดนุ่ง ซึ่งปรากฎอยู่ในลายจำลักศิลาชั่วแต่ผ้ากว้างแคบกว่ากันตามที่มีมากน้อย พวกก๊อยนั้นเห็นจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลยตั้งแต่ครั้งกระนั้นมาจนถึงเดี๋ยวนี้ ผู้หญิงนุ่งเตียวชั้นใน เรียกว่า "จะวัด" คือมีสายรัดบั้นเอวและผ้าทาบหว่างขา แล้วนุ่งหุ้มรอบเอวข้างนอกตามแต่จะมี เมื่อไม่มีผ้าก็ใช้ใบไม้ เมื่อมีผ้าก็ใช้ผ้า เรียกว่า "ฮอลี" กว้างและแคบก็ตามมีอย่างแคบก็ปกงมาเหนือเข่า ผู้หญิงมีผ้าห่มเรียกว่า "ริใบ" นี่เห็นจะเติมขึ้นใหม่เมื่อใกล้เคียงกับชาวบ้านเข้า
การแต่งกายของซาไกในปัจจุบัน พบว่ามีลักษณะเป็นแบบชาวบ้านชาวเมืองแล้ว คือ มีการส่วมเสื้อ นุ่งกางเกง นุ่งผ้าถุง นุ่งกระโปรง และสวมรองเท้า เครื่องแต่งกายเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้มาด้วยการนำของป่าไปแลก หรือแลกด้วยแรงงานที่ชาวบ้านขอร้องให้ช่วย เช่น ถางป่า น่ำข้าว แล้วตอบแทนด้วยเสื้อผ้าเก่า ๆ กล่าวได้ว่าพวกซาไกได้รับเอาวัฒนธรรมเครื่องแต่งกายของชาวบ้านชาวเมืองเข้าไปใช้แล้ว แต่พวกเขายังไม่อาจรับเอาวิธีการใช้และเก็บรักษาเครื่องแต่งกายเหล่านั้น กล่าวคือ เขาจะมีแต่เสื้อผ้าเก่า ๆ สกปรกมอบแมม ด้วยคราบเหงื่อไคลและรา เสื้อผ้าใหม่ ๆ ถ้ามีบ้างก็ไม่รู้จักใส่ให้เข้าชุดกัน สวมใส่อะไรก็ได้ไม่พิถีพิถัน ไม่ค่อยซักกันบ่อยนัก หรือบางคนก็นุ่งกันจนขาดไม่เคยซักเลย สำหรับเครื่องประดับเพื่อความสวยงามนั้น จากคำของพวกเขาเองเล่าให้ฟังว่า ในอดีตโดยปกติผู้หญิงมักจะมีเครื่องประดับตกแต่งมากกว่าผู้ชาย เช่น สาวซาไกที่ยังไม่ได้แต่งงานจะนิยมใช้ดอกจำปูนทำเป็นตุ้มหู สวมสร้อยคอลูกประคำใช้หวีที่ทำจากไม่ไผ่ การใช้หวีเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเป็นหญิงสาวบริสุทธิ์ ส่วนสร้อยคอแสดงถึงหญิงที่แต่งงานแล้ว แต่ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ได้สูญหายไปสิ้น พวกเขาหันเข้ามารับเอาวัฒนธรรมของชาวบ้านชาวเมืองเข้าไปแทน ผู้หญิงจะตกแต่งเรือนผมที่ดกดำและหยิกขมวดติดหนังศรีษะ หรือฟูเป็นกระเซิงของเขาด้วยดอกไม้ใบไม้ โดยจะ เอามาเสียบติดกับผม เด็ก ๆ บางคนใช้กิ๊ปสีแดงหรือสีเขียว แต่ยังไม่รู้จักใช้หวีเหมือนชาวบ้านทั่วไป ทั้งนี้อาจเป็นเพราะหวีไม่ไปก็ได้ เพราะผมของเขาหยิกฝอยมาก เขาจึงทำหวีขึ้นใช้เองโดยทำจากไม่ไผ่เช่นเดียวกับในอดีต เอามาแกะเป็นซี่ห่าง ๆ และตำแต่งเป็นลวดลายสวยงามบนผิวไม้ไผ่ ส่วนผู้ชายไม่ใช้เครื่องประดับใด ๆ
อาหารการกิน
ซาไกเป็นกลุ่มคนที่ยังอยู่ในระดับวัฒนธรรมล่าสัตว์ (Hunting Culture) อย่างสมบูรณ์ ยังไม่รู้จักทำการเพาะปลูก อาศัยแต่อาหารที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ อาหารหลักของพวกเขา คือ เผือกมัน เนื้อสัตว์และผักหญ้าตามแต่หามาได้ เช่น หยวกกล้วยป่า มะละกอ หรือยอดไม้ใบไม้ที่เก็บหาได้ง่าย ๆ จนมีสำนวนพูดกันว่า
"ลูกชาวบ้านกินเป็ดกินไก่ ลูกซาไกกินแต่มะละกอ"
ปัจจุบันซาไกบางกลุ่มรู้จักกินข้าว โดยนำของป่าไปแลกกับข้างสารจากชาวบ้าน หรือไปทำงานให้เขาและขอข้าวสารเขา หรือไม่ก็นำของป่าไปขาย และซื้อข้าวสารและปัจจัยในการบริโภคชนิดอื่น ๆ มา พวกเขายังไม่รู้จักประกอบอาหารให้อร่อยชวนรับประทาน แต่รู้จักทำให้สุก ยังไม่รู้จักสะสมอาหาร อาหารที่หามาได้เท่าใดก็จะกินอาหารนั้นจนหมดจึงออกไปหาใหม่ บางครั้งจึงอดเพราะหาใหม่ไม่ได้ ถ้ามีมากก็จะกินกันทั้งวันทั้งคืนจนกระทั่งหมดแล้วค่อยหาเอาใหมื่ ถ้าหากมีข้าวสารหรือเผือกมันเหลืออยู่แต่กับข้าวหมดแล้ว จะไม่ออกไปหากับข้าวมาเพิ่ม จะกินข้าวกับเกลือหรือหยวกกล้วยป่าตำกับเกลือหรือใบไม้ห่อกับเกลือมากินกับข้าว ถ้าหากข้าวสาร เผือกมันหมดลง แต่เนื้อสัตว์ยังมีเขาจะกินเนื้อสัตว์ให้หมดก่อน เมื่อหมดทุกสิ่งทุกอย่างแล้วจึงออกไปหาอาหารอีกครั้ง ถ้าหาได้ก็มีกิน ถ้าหาไม่ได้ก็ ต้องอด พวกเขายังไม่รู้จักทำสวนครัว แม้แต่พริก มะละกอก็ยังไม่รู้จักปลูก
การอนามัยและยารักษาโรค
พวกซาไกไม่รู้จักรักษาหรือส่งเสริมอนามัยของตนเองนัก โดยมากจะปล่อยปละละเลยไปตามยถากรรม มักเป็นโรคกันมากโดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารกับทางเดินหายใจ ส่วนโรคผิวหนังเป็นกันเกือบทุกคน แต่ถือเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับเขา โรคอื่นๆที่น่าจะเป็นกันมากกลับไม่เป็นกันเลย โดยเฉพาะโรคมาลาเรียทั้งๆที่ พวกนี้อยู่ในที่มีเชื้อมาลาเรียชุกชุมมาก
พวกซาไกไม่นิยมใช้ยาแผนใหม่ที่เขาเรียกว่า "ยาหลวง" เพราะไม่เชื่อว่าจะได้ผล เขาสังเกตุพบว่าเมื่อเขาป่วยลงถ้ากินยาแผนใหม่มักจะตายทุกราย จึงใช้ยาสมุนไพรที่เคยใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ เขาจึงเป็น "เจ้าแห่งสมุนไพร " มีความรู้ความชำนาญพิเศษในเรื่องยาสมุนไพรซึ่งล้วนแต่มีคุณภาพทั้งสิ้น เช่น
  • ยาคุมกำเหนิด เป็นรากไม้แข็งๆ ให้ผู้หญิงกินกับหมากหรือแทะกินเฉยๆ ก็ได้ คุมกำเหนิดได้แน่นอน ต้องการมีลูกเมื่อใดก็หยุดกินเมื่อนั้น พวกซาไกรู้จักการคุมกำเหนิดมานานแล้ว เขาให้เหตุผลการคุมกำเหนิดว่า ถ้ามีลูกมากเลี้ยงไม่ไหว อาหารในป่าหายาก ซึ่งตรงกับ "มีลูกมากยากจน" ของคนเมือง แต่คนเมืองคุมกำเหนิดทีหลังพวกเขามาก เท่าที่สังเกตุและศึกษาตั้งข้อสมมุติฐานไว้ว่าที่พวกผู้หญิงซาไกส่วนมากตายก่อนผู้ชายนั้นอาจเนื่องมาจากยาคุมกำเหนิดนี้ก็ได้ เพราะกินมากไม่รู้จักสัดส่วนที่พอดี สังเกตุจากหญิงซาไกออกลูกอ่อนจะกินยาชานิดนี้แล้วไม่ต้องอยู่ไฟด้วย แต่ผิวหนังจะตายด้านเป็นแผ่นๆ
  • ยาให้มีลูก เป็นรากไม้แข็งๆ ให้ผู้หญิง ผู้ชายกินกันกับหมากหรือแทะกินเฉยๆ ก็ได้ พอยานี้ไปกระตุ้นต่อมต่างๆ ในร่างกาย แล้วจะมีผลให้ได้ลูกสมปราถนา
  • ยาไข่เหล็ก เป็นรากไม้แข็งๆ สีขาว ให้ผู้ชายแทะกิน ทำให้กระชุ่มกระชวย แข็งแกร่ง เพิ่มพลังทางเพศ
  • ยาแก้ปวดกระดูก เป็นเถาวัลย์สีขาวค่อนไปทางสีน้ำตาลอ่อนๆ ใช้ต้มเอาน้ำอาบ หรือใช้น้ำยานวดตามข้อหรือกระดูก
  • น้ำมันเสน่ห์ น้ำมันเสน่ห์ของซาไกเป็นที่นิยมกันมาก เชื่อว่ามีคุณภาพดี เขาทำจากน้ำมันมะพร้าวเสกคาถา แล้วใช้เกสรดอกไม้ป่าชนิดหนึ่งแช่ไว้ในน้ำมันมะพร้าวนั้น วิธีใช้น้ำมันเสน่ห์นี้ ใช้นิ้วแตะน้ำมันเพียงนิดเดียวแล้วเอาไปแตะข้างหลังของคนที่นึกรักให้ตรงหัวใจ ภายใน 3 วัน 7 วัน ถ้าไม่ได้มาอยู่ กินกันกับคนที่แตะเป็นต้องคลุ้มคลั่งวิ่งมาหาทีเดียว
    ถึงแม้ว่าซาไกจะมีความชำนาญในเรื่องเครื่องยาสมุนไพรเพียงใดก็ตาม แต่โรคซึ่งซาไกไม่อาจแก้ไขได้และคุกคามชีวิตอางมากก็คือ โรคทางเดินอาหารกับโรคทางเดินหายใจ เมื่อเป็นโรคนี้ขึ้นมา วิธีการรักษาของเขาก็คือ "พ่นหมาก" เวลาเป็นหวัดปวดหัวก็เคี้ยวหมากพ่นที่หัว เวลาท้องอืดปวดท้องก็เคี้ยวหมากพ่นที่ท้อง
    ในการพ่นหมาก หาเครื่องยามารักษาคนเจ็บป่วยจะเป็นหน้าที่ของหมอ เขามีหมอประจำหมู่บ้านคนหนึ่งเป็นผู้ชายไว้สำหรับทำหน้าที่นี้ และหมอผู้หญิงอีกคนหนึ่งรับหน้าที่ทำคลอดและเลี้ยงดูเด็ก เรียกกันว่า "โต๊ะดัน" หรือ "โต๊ะบิดัน" หมอผู้หญิงคนนี้ไม่ต้องออกหาอาหาร เธอมีสิทธิ์ได้รับส่วนแบ่งอาหารจากคนที่หามาได้ และถ้าหมู่บ้านซาไกหาอาหารไม่ได้เลย เธอก็ต้องอดเช่นเดียวกัน
  • Design by Narong Rattanaya
    If you want more information
    Please contact Webmaster