ประวัติของเมืองยะลา
  • ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์
  • ชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์
  • ชุมชนสมัยประวัติศาสตร์ไทย
    อำเภอเมืองยะลา ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำสายนี้ ก็มีการขุดพบขวานหินขัด สมัยหินใหม่ แสดงให้เห็นว่าที่ราบริมฝั่งแม่น้ำปัตตานีสายนี้ มีความเป็นมาอันยาวนาน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์
    นอกตัวเมืองยะลาไปทางทิศตะวันตก ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 409 บริเวณกิโลเมตรที่ 4 ถึงกิโลเมตรที่ 8 อันเป็นที่ตั้งขอวตำบลท่าสาป และตำบลหน้าถ้ำ มีที่ราบที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ทุ่งกาโล ด้านตะวันออกของทุ่ง มีแม่น้ำปัตตานีไหลผ่าน เป็นแนวแบ่งเขตระหว่างพื้นที่กับตัวเมืองยะลา ด้านตะวันตกมีภูเขาวัดถ้ำและภูเขากำปั่น ถือเป็นชุมชนโบราณเดียวกัน เพราะได้มีการขุดพบวัตถุโบราณในลักษณะเดียวกันเป็นจำนวนมาก
    ทุ่งกาโล แต่เดิมเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ของชาวบ้านท่าสาป และหน้าถ้ำ พื้นที่โคกอิฐ เนินดินปรากฏอยู่เรียงราย เมื่อชาวบ้านขุดไถเป็นที่ทำกิน มักจะพบเครื่องปั้นดินเผาที่ยังสมบูรณ์อยู่บ้าง เป็นเศษชำรุดบ้าง บางส่วนก็เป็นป่าช้าประจำหมู่บ้านแห่งนี้ ในราวปี พ.ศ. 2472 ได้มีการขุดหลุมเพื่อฝังศพของชาวจีน ได้พบพระพุทธรูปบ้าง เทวรูปบ้าง ต่อมาในปี พ.ศ. 2500 ทางราชการได้ขุดไถทุ่งกาโล เพื่อปรับเป็นที่สร้างสนามบินท่าสาป การขุดไถครั้งนั้นได้ทำลายโคกอิฐ เนินดินเสียหายเป็นจำนวนมาก บางส่วนยังสามารถเห็นได้ชัดเจนว่า เป็นซากกำแพงเมือง มีการพบเครื่องถ้วยชามฝังดินอยู่จำนวนไม่น้อย จากปากคำของผู้อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า การขุดไถครั้งนี้พบรูปพระนารายณ์สี่กรสำริดสูงประมาณ 1 ศอก และพระพุทธรูปอีกหลายองค์ แต่วัตถุล้ำค่าเหล่านี้ได้ตกเป็นของคนขุด และถูกขายต่อๆ ไปเป็นของเอกชนจนไม่อาจจะติดตามเพื่อศึกษาได้ในขณะนี้ และพื้นที่ทุ่งกาโลก็ได้ถูกกลบฝัง แปรสภาพเป็นสนามบิน เป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา
    ภูเขาวัดถ้ำ ภูเขากำปั่น ทางทิศตะวันตกของทุ่งกาโล ในตำบลหน้าถ้ำซึ่งมีภูเขาวัดถ้ำ และภูเขากำปั่น เป็นภูเขาหินปูน มีถ้ำน้อยเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะภูเขาวัดถ้ำ มีถ้ำสำคัญคือ ถ้ำแจงหรือถ้ำพระนอน อันมีโบราณวัตถุจำนวนมาก รวมทั้งพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่ และถ้ำศิลป์ ซี่งมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยศรีวิชัย พระพุทธไสยาสน์และจิตรกรรมฝาผนังดังกล่าวนี้ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478
    ที่ภูเขากำปั่นมีถ้ำใหญ่น้อยเป็นจำนวนมาก ถ้ำที่สำคัญที่สุดมีอยู่สองถ้ำคือ ถ้ำสำเภา และถ้ำคนโท ถ้ำสำเภาอยู่ทางทิศเหนือของภูเขา ปากถ้ำสูงกว่าพื้นดินประมาณ 3 เมตร ในถ้ำแห่งนี้เคยมีการขุดพบพระพุทธรูปปูนปั้น พระพิมพ์ดินดิบ และพระสำริด ในถ้ำมีหินงอก หินย้อยที่สวยงามมาก มีถ้ำเล็กๆ แยกออกไปเป็นซอกซอย บางช่วงเป็นห้องโถงกว้าง ที่ผนังถ้ำมีลวดลายของหินตามธรรมชาติ เพราะเป็นถ้ำหินอ่อน ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่าผนังถ้ำบางแห่งเคยมีปูนปั้นเป็นรูปราชรถ มีเทวดาประทับอยู่บนราชรถนั้น แต่ปัจจุบันหายไปแล้ว
    ถ้ำคนโทอยู่ตอนกลางของภูเขากำปั่น อยู่สูงจากพื้นดินมาก ต้องไต่ขึ้นไปตามโขดหิน บางแห่งต้งอปีนหน้าผา แต่ถ้ำนี้ถือว่าเป็นถ้ำที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของภูเขากำปั่น เป็นถ้ำหินอ่อน มีหินงอก หินย้อยเป็นรูปต่างๆ สวยงามมาก การขุดค้นในปี พ.ศ. 2500 นั้น ประมาณกันว่าได้พบวัตถุโบราณอันได้แก่ พระพิมพ์ดินดิบ พระพุทธรูป และเครื่องถ้วยจากถ้ำนี้มากกว่าถ้ำอื่นๆ
    พระพุทธรูปที่ค้นพบที่ถ้ำคนโท ที่เป็นพระพุทธรูปสลักในแผ่นหินมีอยู่ 3 องค์ องค์ที่สมบูรณ์ที่สุดสลักในแผ่นหินกว้าง 21.5 เซนติเมตร สูง 30 เซนติเมตร สลักเป็นรูปนูนต่ำ รูปพระพุทธเจ้าประทับนั่งแสดงปางสมาธิ ส่วนอีกรูปหนึ่งมีขนาดใกล้เคียงกัน แต่ชำรุดเสียครึ่งหนึ่ง และอีกรูปหนึ่งมีแต่พระเศียร
    พระพุทธรูปสำริด ที่พบจากถ้ำคนโทมีจำนวนมากมาย ส่วนใหญ่ตกเป็นสมบัติเอกชน และไม่เป็นที่เปิดเผยว่าอยู่ที่ใดบ้าง ที่เป็นสมบัติของวัดคูหาภิมุขเพราะชาวบ้านนำมาถวาย ซึ่งมักจะไม่สมบูรณ์ มีทั้งที่เป็นแบบพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย สมัยอู่ทอง บางองค์ก็สันนิษฐานว่าเป็นแบบศรีวิชัย แต่ยังไม่มีการยืนยันให้แน่นอนลงไปได้
    เนื่องจากภูเขากำปั่นเป็นภูเขาหินอ่อนสีชมพู ซึ่งหาได้ยากมาก รัฐบาลจึงได้สัมปทานแก่บริษัทเอกชน สำรวจทำหินอ่อนออกจำหน่าย ปัจจุบันหินอ่อนสีชมพูจากยะลาชื่อเสียงมาก แต่ในอนาคต ถ้ำสำเภา ถ้ำคนโท และเรื่องราวในอดีตเกี่ยวกับพระพุทธรูป พระพิมพ์ในภูเขาแห่งนี้คงจะสูญหายไปด้วย
    จากการบันทึกของนักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ และนักวิชาการข้างต้นทำให้ทราบว่า พื้นที่จังหวัดยะลาบริเวณตำบลท่าสาป และตำบลหน้าถ้ำปัจจุบัน เคยเป็นแหล่งชุมชนโบราณมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ กลุ่มชนเหล่านี้ได้มีการติดต่อสัมพันธ์ และพัฒนาเรื่อยมาจนเข้าสู่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์