ประวัติของเมืองยะลา
  • ชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์
  • ชุมชนสมัยประวัติศาสตร์ไทย
    ชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์
ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ได้พัฒนาต่อเนื่องกันมา เริ่มจากการติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างชุมชนพื้นเมือง ได้รับหรือเอาอารยธรรมสมัยประวัติศาสตร์จากดินแดนภายนอก ทำให้ชุมชนพื้นเมืองเปลี่ยนแปลงไปสู่ลักษณะของชุมชนใหม่ มีการตั้งถิ่นฐานรวมกลุ่มเป็นชุมชนเมือง หรือชุมชนนครรัฐ มีระบบสังคมและการจัดระเบียบชุมชนแตกต่างออกไปจากเดิม เป็นช่วงสมัยแรกๆ ของการปรากฏหลักฐานการมีตัวหนังสือ ใช้บันทึกเรื่องราวของชุมชน แต่เรื่องราวยังไม่ตอ่เนื่องชัดเจนเพียงพอ จนกระทั่งสิ้นสุดเมื่อเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ไทย และชุมชนต่างๆ ในดินแดนภาคใต้ใด้ผนวกเข้ารวมอยู่ในอาณาจักรไทย ซึ่งมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่สุโขทัยและอยุธยา
แหล่งโบราณคดีสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของจังหวัดยะลา
แหล่งสนามบินท่าสาป
ตำแหน่งที่ตั้ง ตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
พิกัดภูมิศาตร์ เส้นรุ้ง 6 องศา 32 ลิปดา 00 ฟิลิปดา เส้นแวง 101 องศา 14 ลิปดา 40ฟิลิปดาตะวันออก
แหล่งเขากำปั่น
ตำแหน่งที่ตั้ง บ้านท่าสาป ตำบลท่าสาป อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา
พิกัดภูมิศาสตร์ เส้นรุ้ง 6 องศา 32 ลิปดาเหนือ เส้นแวง 101 องศา 14 ลิปดาตะวันออก
แหล่งวัดหัวควน (นิโรธสังฆาราม)
ตำแหน่งที่ตั้ง ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา
พิกัดภูมิศาสตร์ เส้นรุ้ง 6 องศา 31 ลิปดา 45 ฟิลิปดาเหนือ เส้นแวง 101 องศา 21 ลิปดา 10 ฟิลิปดาตะวันออก
แหล่งถ้ำคูหาภิมุข
ตำแหน่งที่ตั้ง หมู่ที่ 1 บ้านหน้าถ้ำ ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
พิกัดภูมิศาสตร์ เส้นรุ้ง 6 องศา 31 ลิปดา 27 ฟิลิปดาเหนือ เส้นแวง 101 องศา 13 ลิปดา 40ฟิลิปดาตะวันออก
แหล่งถ้ำศิลป์
ตำแหน่งที่ตั้ง หมู่ที่ 2 บ้านบันนังลูวา ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา
พิกัดภูมิศาสตร์ เส้นรุ้ง 6 องศา 31 ลิปดา 10 ฟิลปดาเหนือ เส้นแวง 101 องศา 14 ลิปดา 12 ฟิลปดาตะวันออก
สมัยประวัติศาสตร์ไทย
สมัยกรุงสุโขทัย
พลโทดำเนิน เลขะกุล ได้กล่าวถึงเมืองปัตตานีในสมัยสุโขทัยว่า
อาณาจักรศรีธรรมราชคงตกเป็นประเทศราชของอาณาจักรสุโขทัย ราวต้นรัชกาล พ่อขุนรามคำแหง (พ.ศ. 1822 - 1844 ) และมีหลักฐานว่ากองทัพสุโขทัยกับกองทัพ (เรือ) นครศรีธรรมราชได้ยกลงไปทำสงคราม ได้ครองแคว้นต่างๆ ในแหลมมลายูได้ทั้งสิ้นตลอดถึงเมืองสิงคโปร์ (เดิมเรียกตุมาสิก) จึงไม่ต้องสงสัยว่าแคว้นปัตตานีจะไม่ขึ้นอยู่กับอาณาจักรสุโขทัยด้วย แต่ไม่มีบทบาทอะไร จึงไม่ใคร่จะพบชื่อติดอยู่ในประวัติศาสตร์
ขจัดภัย บุรุษพัฒน์ กล่าวถึงเมืองปัตตานีไว้ดังนี้
เมืองปัตตานีได้ตกอยู่ในอำนาจของประเทศไทย ตั้งแต่สมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่ในหลักศิลาจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหง (หลักที่ 1 ) ปรากฏข้อความเกี่ยวกับอาณาเขตของประเทศไทยว่า
มีเมืองกว้างช้างหลาย ปราบเบื้องตะวันออก รอดสระหลวงสองแคว ลุมนาจายสคาเท้าฝั่งของ ถึงเวียงจันทร์เวียงคำเป็นที่แล้ว เบื้องหัวนอนรอดคนฑี พระบางแพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลสมุทร เป็นที่แล้ว เบื้องตะวันตกรอดเมืองฉอด เมือง…
…หงสาวดี สมุทรผ้าเป็นแดน เบื้องตีนนอน รอดเมืองแพร่ เมืองน่าน เมือง….เมืองพลั่ว พ้นฝั่งของเมืองชวาเป็นที่แล้ว ปลูกเลี้ยงฝูงลูกบ้านลูกเมืองด้วยธรรมทุกคน
โดยเหตุที่เขตที่เมืองนครศรีธรรมราชในครั้งนั้น กินไปตลอดแหลมมลายู รวมทั้งมะละกาและสิงคโปร์ ดังนั้น ตามหลักฐานศิลาจารึกดังกล่าว แหลมมลายูจึงเป็นเขตแดนไทย ตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงเป็นต้นมา แต่วิธีการปกครองเมืองขึ้นในสมัยนั้น ไม่ได้ส่งคนไปปกครอง เพียงแต่ให้ส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทอง 3 ปีต่อครั้ง
สมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี
หนังสือประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดยะลา พ.ศ. 2529 ได้ กล่าวถึงประวัติความเป็นมาและเหตุการณ์สำคัญของจังหวัดยะลาไว้ดังนี้
ดินแดนอันเป็นที่ตั้งของจังหวัดยะลาปัจจุบันนี้ แต่เดิมจะเป็นท้องที่บริเวณหนึ่งในเมืองปัตตานี ยังไม่ได้แยกออกมาเป็นเมือง ดังนั้นจึงต้องกล่าวถึงเรื่องราวเบื้องต้นที่เกี่ยวกับเมืองปัตตานี
เมืองปัตตานีมีฐานะเป็นเมืองประเทศราชของไทย มาตั้งแต่สมัย ตลอดจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น โดยนาย โทเม ปิเรส ชาวโปรตุเกส ผู้เข้ามาอยู่ในมะละกา เมื่อพุทธศตวรรษที่ 21 ใได้บันทึกว่า ในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (พะงั่ว พ.ศ. 1913 - 1931 ) พระองค์ทรงได้ธิดาของมุขมนตรีแห่งปัตตานีคนหนึ่งเป็นพระสนม ในฐานะเมืองประเทศราช ปัตตานีมีหน้าที่ส่งเครื่องราชบรรณาการเข้าถวายทุกๆ 3 ปี ซึ่งในข้อนี้ ลาลูแบร์ อัครราชทูตฝรั่งเศส ซึ่งมากรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (พ.ศ. 2199 - 2231) ได้ยืนยันว่า ปัตตานีต้องส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองอย่างละต้น เข้ามาถวายพระมหากษัตริย์ ไทยทุก 3 ปี ปัตตานีเป็นเมืองประเทศราชของไทยเรื่อยมา จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าใน พ.ศ. 2310 ปัตตานีจึงตั้งตนเป็นอิสระ
ในสมัยกรุงธนบุรี ( พ.ศ. 2310 - 2325 ) ปัตตานีได้ส่งเครื่องราชบรรณการต่อไประยะหนึ่ง จนถึงปลายสมัยกรุงธนบุรีซึ่งเกิดความวุ่นวายภายในปัตตานีจึงเป็นอิสระอีก
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
กำเนิดเมืองยะลา
สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (พ.ศ. 2325 - 2352) ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้มีการปรับปรุงการปกครองหัวเมืองปัตตานี โดยให้เมืองสงขลา เป็นผู้ควบคุมดูแลเมืองปัตตานี (แต่เดิมเมืองปัตตานีอยู่ในความดูแลของเมืองนครศรีธรรมราช) นอกจากนี้ได้แบ่งเมืองปัตตานีออกเป็น 7 เมือง คือ ปัตตานี ยะหริ่ง สายบุรี ยะลา รามัน ระแงะ และหนองจิก จึงนับว่าเมืองยะลาได้แยกมาตั้งเป็นเมืองในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ใน พ.ศ. 2334 (หลักฐานเกี่ยวกับระยะเวลาที่ดำเนินการแบ่งปัตตานีเป็น 7 หัวเมือง ระบุต่างกัน เช่น พงศาวดารเมืองปัตตานี และตำนานเกี่ยวกับเมืองปัตตานี ระบุว่าการแบ่งเมืองปัตตานีเป็น 7 เมืองเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 )