History
ประวัติของเมืองยะลา
  • ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์
  • ชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์
  • ชุมชนสมัยประวัติศาสตร์ไทย
    ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดยะลา
    จังหวัดยะลามีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน ผลจากการศึกษาแหล่งโบราณคดีและหลักฐานที่ปรากฏ ทำให้ทราาบว่าบริเวณอันเป็นที่ตั้งของจังหวัดยะลาปัจจุบัน เคยเป็นแหล่งชุมชนมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยเป็นชุมชนหนึ่งปัตตานี ดังนั้น ความเป็นมาในระยะแรก จึงกล่าวรวมอยู่ในเมืองปัตตานีโดยขอแยกกล่าวเป็น 2 ตอน คือ ประวัติความเป็นมาของยะลา และอาณาจักรโบราณที่เกี่ยวข้อง
    ประวัติความเป็นมา
    ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์
    สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. 2529 ได้บันทึกว่า ในท้องที่จังหวัดยะลาปัจจุบัน โดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มชายฝั่งแม่น้ำปัตตานี เป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณมาแล้วตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ จากการสำรวจเบื้องต้นของ ศรีศักร วัลลิโภดม มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อประมาณ 5 - 6 ปี ที่ผ่านมาพบว่า …………….เข้าไปในแผ่นดินเขตจังหวัดยะลา พบร่องรอยของศาสนสถานที่มีความสัมพันธ์กับการกระจายของชุมชนโบราณอีกหลายแห่ง บริเวณที่เป็นเมืองโบราณย่านนี้ ท่านผู้รู้หลายท่านให้ความเห็นว่า คงอยู่ในบริเวณที่เป็นสนามบินของจังหวัดในปัจจุบัน ซึ่งบัดนี้ได้ถูกไถราบไปหมดแล้ว เท่าที่สอบถามได้ความว่าพบซากฐานศาสนสถานที่ก่ออิฐหลายแห่ง พบเทวรูปสำริดหลายองค์ โบราณสถานอื่นๆ ที่ได้พบเห็นมาส่วนมากอยู่ตามถ้ำ เช่น ถ้ำดิน ถ้ำเสือ ถ้ำขี้วัว เป็นต้น พบพระพิมพ์ดินดิบแบบทวารวดีศรีวิชัยเป็นจำนวนมาก บางถ้ำมีภาพเขียนสี เช่น เช่นเขียนเป็นพระพุทธรูป รูปราชรถมีสัตว์เทียม เป็นต้น ถ้ำที่สำคัญเป็นศาสนสถานทางพุทธศาสนาที่มีการปฏิบัติต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ ถ้ำวัดคูหา ซึ่งนอกจากจะพบพระพิมพ์ดินดิบแล้ว ยังเป็นวัดที่ได้รับการเอาใจใส่เรื่อยมา มีการสร้างพระนอน พระหินพระปูนทั้งนั่งและยืน สมัยหลังๆลงมา
    ประทุม ชุ่มเพ็งพันธ์ ได้อ้างจากตำนานพื้นเมืองของปัตตานี ที่เล่าสืบต่อๆ กันมาว่า เมืองปัตตานีโบราณนั้นมีการโยกย้ายถึง 4 ครั้ง และครั้งแรกเมืองนี้เริ่มก่อตั้งขึ้นที่บ้านปาโย หรือ บ้านบาโย ซึ่งทุกวันนี้ได้แก่ บริเวณท้องที่ตำบลหน้าถ้ำ ตำบลท่าสาป อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา บนฝั่งแม่น้ำปัตตานีในเขตนั้นพบซากโบราณสถาน และศิลปโบราณวัตถุจำนวนมากมาย มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 - 17 เป็นส่วนใหญ่ จากหลักฐานข้างต้น แสดงให้เห็นว่า ยะลาและปัตตานีเป็นชุมชนที่มีประวัติความเป็นมาในยุคแรกๆ ร่วมกัน โดยเฉพาะในสมัยอาณาจักรลังกาสุกะและสมัยอาณาจักรปัตตานี (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 21 - พ.ศ. 2537 )ยะลาเป็นเพียงชุมชน หรือเมืองบริเวณของอาณาจักรดังกล่าว และอาจเคยเป็นศูนย์กลางหรือเมืองหลวงในยุคแรกๆก็ได้ เพราะตำนานพื้นเมืองได้กล่าวไว้เช่นนั้น แต่อย่างไรก็ตามชุมชนทั้งสองมีข้อแตกต่างที่สำคัญอยู่ประการหนึ่ง และเป็นตัวกำหนดระดับของความเจริญที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในแต่ละชุมชนด้วยคือ ยะลาเป็นชุมชนเกษตรที่อยู่ลึกเข้าไปภายใน เป็นที่ตั้งหลักแหล่งของกลุ่มชนที่อยู่ประจำที่ มีอาชีพหลักเกี่ยวกับการเพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์ ส่วนปัตตานีเป็นชุมชนท่าเรือ ที่มีการติกต่อค้าขายกับต่างประเทศ และชุมชนใกล้เคียง มีอาชีพทางการประมงและการค้าเป็นสำคัญ จะมีการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์บ้าง ก็ทำกันเฉพาะชาวชนบทไม่ใช่ชาวเมือง ด้วยเหตุนี้เองปัตตานีจึงเป็นชุมชนที่เจริญมากว่า และเป็นศูนย์อำนาจปกครองท้องถิ่นบริเวณลุ่มน้ำปัตตานีตลอดมา รวมทั้งเป็นศูนย์กลางทางด้านวัฒนธรรม ที่มีลักษณะผสมปนเปกันจากหลายชาติหลายภาษา มีทั้งวัฒนธรรมดั้งเดิม วัฒธรรมอินเดีย จีน ชวา และวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาอิสลามและศาสนาพุทธ ยะลาจึงมีฐานะเป็นเพียงชุมชนบริวารของปัตตานีตลอดมา จนกระทั่งมีการแบ่งเมืองปัตตานีออกเป็น 7 เมือง ในปี พ.ศ. 2357 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
    ตามพงศาวดารเมืองปัตตานี ฉบับของพระยาวิเชียรคีรี ฯ (ชม) เจ้าเมืองสงขลาระหว่างปี พ.ศ.2431 - 2444 ได้กล่าวถึงรายละเอียดของการแยกเมืองปัตตานีออกเป็น 7 เมืองครั้งนั้นว่า โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาอภัยสงครามกับพระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋อง) ออกไปแยกเมืองปัตตานีเป็น 7 เมือง พระยาอภัยสงคราม และ พระยาสงขลา ครั้นออกไปถึงเมืองปัตตานีแล้วก็แยกออกเป็นเมืองปัตตานี 1 เป็นเมืองยิริง 1(ยะหริ่ง) เป็นเมืองสายบุรี 1 เป็นเมืองหนองจิก 1 เป็นเมืองรามันห์ 1 เป็นเมืองระแงะ 1 เป็นเมืองยะลา 1
    พลโทดำเนิร เลขะกุล ได้กล่าวถึงเมืองปัตตานีเก่าไว้ดังนี้ ตามชายฝั่งแม่น้ำปัตตานีนั้นมีร่องรอยว่า เคยมีชุมชนโบราณตั้งเรียงรายกันอยู่หลายแห่งเฉพาะที่เป็นแหล่งใหญ่และค้นพบเศษโบราณวัตถุและโบราณสถานมากๆ แสดงให้เห็นว่า เคยเป็นเมืองมาก่อน มีอยู่ 2 แห่ง คือ บริเวณบ้านเนียง-สนามบิน-วัดคูหามุข (วัดหน้าถ้ำ) -เขากำปั่น ในจังหวัดยะลาแห่งหนึ่ง และบริเวณอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานีอีกแห่งหนึ่ง
    แห่งแรก บริเวณบ้านเนียง- วัดหน้าถ้ำ ในจังหวัดยะลานั้น ได้พบภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ภายในถ้ำในเขตวัดคูหาภิมุข แสดงว่าเคยเป็นที่อยู่ของคนก่อนประวัติศาสตร์ และการพบพระพุทธรูปและพระพิมพ์สมัยศรีวิชัยในถ้ำเขากำปั่นใกล้ๆ วัดคูหาภิมุข และได้พบเศษชิ้นโบราณวัตถุในบริเวณสนามบิน (มีผู้เก็บไปรวบรวมไว้ที่บ้านเนียงใกล้ๆ สนามบิน ) เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า บริเวณนั้นเคยเป็นเมืองขนาดใหญ่มาตั้งแต่สมัยศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ 13 - 18) แต่ทีแรกจะชื่อว่าเป็นอะไร ไม่มีใครทราบ คุณอนันต์ วัฒนานิกร นักประวัติศาสตร์โบราณคดีในจังหวัดปัตตานี ได้กล่าวว่า ที่นั่นเป็นที่ตั้งเมืองปัตตานีที่แรก ก่อนที่จะย้ายไปที่อื่นอีกหลายแห่ง
    วิจิตร ศรีสุวิทธานนท์ เขียนเรื่อง ชุมชนโบราณบ้านท่าสาป และวัดคูหาภิมุข ไว้ว่า พื้นที่จังหวัดยะลา เป็นที่ราบแคบๆ ริมลำน้ำปัตตานี ซึ่งไหลจากเทือกเขาสันกาลาคีรี ลดเลี้ยวไปตามไหล่เขา ผ่านอำเภอเบตง อำเภอธารโต อำเภอบันนังสตา อำเภอเมืองยะลา และไหลลงสู่อ่าวไทยที่จังหวัดปัตตานี ที่ราบริมฝั่งแม่น้ำสายนี้อุดมสมบูรณ์มาก ชาวบ้านที่ขุดไถบริเวณฝั่งมักจะพบวัตถุโบราณอยู่เป็นประจำ เช่นที่อำเภอธารโต เจ้าหน้าที่นิคมพัฒนาตัวเองภาคใต้ เคยขุดพบขวานหินเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกันกับที่ตำบลตาชี อำเภอยะหา และวัดนิโรธสังฆาราม